แคร์ไปเที่ยวบ้านจอยวันสงกรานต์
การเดินทางไปบ้านจอย จากสี่แยกไฟแดงกลางเมืองขุขันธ์ ถนนขุขันธ์-ศรีสะเกษ ถนนหมายเลข 220 มุ่งหน้าไปจังหวัดศรีสะเกษ ขับรถไปประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตรงบ้านบิง ข้ามสะพานไปที่ถนนหมายเลข 3016 ขับรถตรงไปประมาณ 5 - 6 กิโลเมตร แคร์วัดพิกัดที่วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็กนะคะ วัดจะอยู่ฝั่งซ้ายมือค่ะ
จากภาพ จุดเริ่มต้น คือ สี่แยกไฟแดงกลางอำเภอขุขันธ์, จุดหมาย คือ วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็ก
(ถ้าค้นจาก https://maps.google.co.th พิกัดจุดเริ่มต้น คือ 14.715151,104.199493 และ พิกัดจุดหมาย คือ วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็ก)
เมื่อเช้าโก้มารับที่บ้านตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า แล้วแวะรับนุ่มระหว่างทางไปด้วย ถึงบ้านจอยประมาณเจ็ดโมงครึ่ง ระหว่างรอจอยและแม่เตรียมขันน้ำเตรียมน้ำอบ แคร์ได้เดินเล่นแถวๆบ้านจอย
ถัดจากบ้านจอยไปหนึ่งล็อค มีร้านค้า ร้านนี้มีของขายมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ แคร์เห็นมุมนี้น่าสนใจ เป็นมุมขายผลไม้
มุมขายผลไม้หน้าร้านค้าข้างบ้านจอย
หลายคนน่าจะรู้จักกันดีกับ กล้วย สับปะรด และหมาก ที่แคร์จะแนะนำวันนี้เป็นผลไม้พื้นบ้านที่หากินได้ยากในปัจจุบัน นั่นคือ ลูกยาง และ บักแวง
บักยาง
บักยางก่อนปอกเปลือก + เด็ดส่วนแกนนิดเดียวเข้าใจที่มาชองชื่อผลไม้ชนิดนี้เลย(แหม~ ก็ยางทะลักออกมาขนาดนี้) + เมื่อลูกยางแกะเปลือก
.
บักยาง บักยางป่า หรือหมากยาง บางที่เรียกไม่เหมือนกัน ในภาพมีทั้งผลที่เขียวและเหลือง ผลสีเขียวคือผลที่ยังไม่สุกดี ส่วนผลสีเหลืองคือผลที่สุกแล้วกินได้ รสชาติของลูกยางจะมีรสชาติเปรียวๆหวานๆ จะหวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวอมหวานแตกต่างกันไป ที่สวนคุณปู่แคร์มีต้นยางป่าด้วย ต้นของมันจะเป็นเครือ เป็นเถาวัลย์ เป็นไม้เลื้อย เกาะตามต้นไม้ใหญ่ ตอนเด็กๆเวลาแคร์ไปเล่นสวนแคร์ก็เก็บมากินบ่อยๆ ใครยังไม่เคยลอง ช่วงนี้หาลองได้นะคะ ที่ตลาดสดเทศบาลขุขันธ์ก็มีขายค่ะ (คุณพ่อแคร์ไปซื้อมาราคามัดละ 25 บาทค่ะ) ด้วยความที่หาทานยาก เพื่อนๆคนไหนยังไม่เคย ก็ลองดูสักครั้งนะคะ เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะยังมีผลไม้ชนิดนี้อยู่หรือเปล่า จะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะได้ลองหรือเปล่า
บักแวง (ผลสีแดง)
บักแวง หรือบางที่เรียกว่า "หมากแงว" บางทีเรียกว่า "คอแลน" บางคนก็เรียก "ลิ้นจี่ป่า" บักแงวเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว บางลูกก็เปรี้ยวๆหวานๆ แต่ส่วนใหญ่แถวนี้จะมีรสเปรี้ยวมากกว่า นิยมกินกับพริกเกลือ หรือพริกน้ำปลา แหม~ พูดแล้วน้ำลายแตกเบาเบา (น้ำลายแตก เป็นภาษาอีสาน แปลว่า น้ำลายไหล) นอกจากจะกินอร่อยแล้ว บักแงวยังช่วยให้ชุ่มคอ และเป็นยาระบายได้ด้วยค่ะ
กลับมาที่บ้านจอย ตอนนี้ทุกคนก็พร้อมแล้ว พวกเราก็ยกขโยงไปที่บ้านคุณยายของจอยเพื่อไปกินข้าวเช้า ที่หมู่บ้านถัดไป (บ้านหว้า)
พวกเรากำลังเดินทางจากบ้านจอยไปบ้านหว้า บ้านคุณยายของจอย
จากภาพ จุดเริ่มต้น คือ วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็ก, จุดหมาย คือ บ้านหว้า
(ถ้าค้นจาก https://maps.google.co.th พิกัดจุดเริ่มต้น คือ 14.715151,104.199493 และ พิกัดจุดหมาย คือ บ้านหว้า)
เดินทางมาตามแผนที่ระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร ถนนหมายเลข3016 บ้านคุณยายของจอย เป้นบ้านหลังแรกนับจากทางแยกเข้าวัดบ้านกะกำ
ถนนทางไปบ้านคุณยายของจอย (ถ้าเลี้ยวขวาเป็นทางไปวัดบ้านกะกำ)
บ้านคุณยายของจอย
หน้าบ้านมีป้ายต้อนรับเขียนว่า "ดุงแนกัวแลวกอดความสุข" เป็นภาษาส่วย แปลว่า บ้านนี้อยู่แล้วมีความสุข (ภาษาส่วยเป็นภาษาถิ่นของที่นี่ค่ะ เพื่อนที่อยู่บ้านตะเคียนส่วนใหญ่จะพูดภาษาถิ่นเป็นภาษาส่วย แต่เพื่อนแคร์พิเศษค่ะ เขารู้ภาษาถิ่นมากถึงสามภาษาเลยนะ ทั้งลาว เขมร และส่วย)
ป้ายหน้าบ้าน "ดุงแนกัวแลวกอดความสุข" แปลว่า บ้านนี้อยู่แล้วมีความสุข
อาหารมื้อนี้มีหลายอย่างเลยค่ะ สำหรับที่คุณยายจอย ถ้าเป็นวันรวมญาติอย่างนี้ต้องเป็นเมนูปลา เช่นปลาย่าง ลาบปลา หรือ ขนมจีนน้ำยากะทิ เป็นต้น (แคร์ถ่าย ปลาย่างกับลาบปลาไม่ทันนะคะ)
เส้นขนมจีน + น้ำยากะทิ
แม่ของจอย : ลองกินซั่วไก่ กันหน่อยเด้อ
แคร์ : จอย ไหนซั่วไก่
จอยชี้ไปที่ชามใส่แกงใบหนึ่งแล้วบอกว่า
จอย : นี่แหละ ซั่วไก่
แคร์ : อ๋อ~ บ้านฉันเรียก "ต้มยำไก่"
โก้ : ใส่ข้าวคั่วด้วย
แคร์ : แต่นี่ไม่มีข้าวคั่วนะ
โก้ : ก็ซั่วไก่บ้านฉัน ฉีกไก่แล้วใส่ข้าวคั่วด้วย
แคร์ : งั้นก็เป็นต้มแซบไก่ฉีกใช่มะ
โก้ : เป็นซั่วไก่
แคร์ : จ่ะ เป็นซั่วไก่
ซั่วไก่ หรือ ต้มยำไก่ (ไม่ใส่ข้าวคั่ว) บ้านคุณยายของจอย
ส่วนกับข้าวจานต่อไป คุณยายบอกว่า เป็นอาหารชั้นสูง แคร์เองก็เพิ่งเคยกินเมนูอาหารชั้นสูงเมนูนี้เป็นครั้งแรกที่นี่เองค่ะ เมนูอาหารชั้นสูงนั้นคือ ลาบไข่มดแดง หรือบางที่เรียก ก้อยไข่มดแดงค่ะ ขึ้นอยู่กับวิธีการทำ ลาบจะไข่มดแดงจะสุก แต่ก้อยไข่มดแดงจะดิบ (แคร์ไม่มั่นใจว่าที่กินไปดิบหรือสุก) คุณยายเล่าว่าช่วงนี้อากาศร้อนหามดแดงไข่มดแดงได้เยอะกว่าอากาศปกติค่ะ
ลาบไข่มดแดง หรือ ก้อยไข่มดแดง
กินข้าวเสร็จเราก็มานั่งเล่นหน้าบ้าน เพราะแม่จอยบอกว่าเขาจะมีขบวนแห่สงกรานต์ผ่านมาทางนี้ เราก็รอตั้งนานไม่มีวี่แววว่าจะมีขบวนแห่มาสักที เพื่อนๆก็พากันเล่นน้ำจนตัวเปียกกันแล้วด้วย ประมาณหนึ่งชั่วโมงผ่านไป ก็มีขบวนรถออะมาจากทางแยกข้างๆบ้าน เป็นขบวนรถพระจากวัดบ้านกะกำค่ะ
ชาวบ้านที่อยู่ในซอยบ้านตรงข้าม ต่างพากันออกมารอสรงน้ำพระและรับการพรมน้ำมนต์ที่ข้างถนนกันอย่างคึกคัก
ชาวบ้านมารับการพรมน้ำมนต์จากพระสงฆ์
ชาวบ้านสรงน้ำพระแล้วก็แอบข้างทาง เพื่อให้ขบวนรถของสามเณรผ่านไปอย่างสะดวก
จอยเล่าให้ฟังว่าขบวนแห่นี้จะเดินทางไปหลายหมู่บ้าน แล้วชาวบ้านก็จะตามขบวนแห่กลับมาที่วัดเพื่อก่อเจดีย์ทรายและทำกิจกรรมต่างๆที่วัดในช่วงบ่ายถึงเย็นค่ะ เมื่อขบวนแห่พระผ่านไป ได้เห็นวิถีชีวิตของคนที่นี้แล้ว เราก็เดินทางกลับไปที่วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็กค่ะ
วัดบ้านตะเคียนช่างเหล็ก
ภายในวัดมีการก่อเจดีย์ทรายด้วยค่ะ นี่แหละไฮไลท์ที่แคร์อยากดู
ชาวบ้านกำลังก่อเจดีย์ทรายกันอยู่ข้างโบสถ์
เด็กๆกำลังสนุกกับการเจดีย์ทรายค่ะ เจดีย์ในภาพแรกกำลังขึ้นลาย เจดีย์ในภาพที่สองกำลังประดับดอกไม้
กำลังเริ่มก่อเจดีย์ทราย + ช่วยกันขึ้นลายเจดีทรายตามแบบที่เขียนไว้
กำลังขึ้นลายเจดีย์ + กำลังประดับดอกไม้
ภายในวันมีการจัดเลี้ยงโรงทานเกือบสิบร้านเลยค่ะ
โรงทานในวัดบ้านตะเคียนช่างเหล็ก
แคร์ไปแวะมาหลายเจ้า เจ้าแรกเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำ จอยได้กินก๋วยเตียวร้านนี้ จอยบอกว่าอร่อยแบบไม่ต้องปรุงเลย
เครื่องก๋วยเตี๋ยวต้มยำ + ผู้ปรุง + เครื่องปรุง
บะหมี่ต้มยำอร่อยไม่ต้องปรุง
ในโรงทานมีร้านไอติมสองร้าน แคร์ได้แวะร้านหนึ่ง เจ้าของร้านใจดีใครขอตักเองก็อนุญาตไม่ว่ากัน
ไอติมกะทิ ในโรงทาน
เราเดินล่นในวัดสักพักหนึ่งแล้วก็กลับไปรอขบวนแห่ที่หน้าบ้านจอย รอจนบ่ายสามก็ยังไม่มา เราก็เลย ขอกลับก่อนค่ะ และนี่คือประสบการณ์วันสงกรานต์ที่บ้านจอยค่ะ น่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่งานจนถึงเย็น ถ้าใครได้ไปยังไง แวะมาเล่าสู่ฟังบ้างนะคะ ^ ^
รวมพล จอย นุ่ม แคร์ โก้
ถ่ายรูปกะนุ่ม + กะจอย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น